วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ป้องกันการแฮก..ไร้สาย..

ทุกวันนี้ระบบเชื่อมต่อสัญญาณและข้อมูลต่างๆ ในกลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการเชื่อมสัญญาณอินเตอร์เน็ตแบบ "ไร้สาย" หรือ "ไวร์เลส" ได้กลายเป็น "มาตรฐาน" ที่ผู้ผลิตสินค้าต้องใส่ไว้ในผลิตภัณฑ์ สำหรับผู้บริโภค ประโยชน์ของระบบไร้สาย คือ ความสะดวกสบาย คล่องตัว ไม่ต้องพ่วงสายระโยงระยาง หรือจะหอบหิ้วเอาโน้ตบุ๊กไปใช้งานที่ไหนก็ได้


ซึ่งกลายเป็นช่องว่างเปิดทางให้ "แฮกเกอร์" หรืออาชญากรคอมพิวเตอร์ ลงมือ "เจาะระบบ" ทะลุทะลวงเข้าไปล้วงข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ ที่เก็บไว้ในตัวเครื่องโดยที่เจ้าของไม่ทันรู้ตัว!


จุดที่คนร้ายมักใช้เป็นแหล่ง "แฮก" โจมตีเหยื่อ ได้แก่ สถานที่สาธารณะที่มีคนพลุกพล่าน เช่น ย่านธุรกิจ หรือห้างสรรพสินค้านั่นเอง


วิธีโจรกรรมของคนร้าย จะใช้โน้ตบุ๊ก หรือมือถือสมาร์ทโฟน ยิงสัญญาณไร้สาย "สแกน" ค้นหามือถือของประชาชนที่เปิดระบบคลื่นวิทยุสื่อสารไร้สาย "บลูทูธ" ทิ้งไว้ เช่น เปิดบลูทูธเพื่อเชื่อมกับชุดหูฟัง ในบางกรณีรัศมีการสแกนดังกล่าวอาจครอบ คลุมถึง 100 เมตร อีกทั้งสัญญาณยังเคลื่อนที่ในลักษณะวงกลม จึงหาตำแหน่งคนร้ายยากขึ้นไปอีก เมื่อพบสัญญาณบลูทูธ แฮกเกอร์จะส่งข้อความ "เอสเอ็มเอส" ไปยังมือถือเหยื่อ เช่น หลอกว่าได้รับรางวัลพิเศษ หรือทางธนาคารติดต่อขอข้อมูลเข้ามา ถ้าหลงเชื่อกดตอบกลับไป ไม่ว่าจะ "ตอบรับ" หรือ "ปฏิเสธ" แฮกเกอร์จะสามารถเข้าควบคุมระบบการทำงานมือถือเหยื่อทันที ถ้าเก็บข้อมูลสำคัญเอาไว้ เช่น บัญชีธนาคาร หรือเปิดระบบทำธุรกิจการเงินผ่านมือถือเอาไว้ (โฟนแบงกิ้ง) ทำให้เจ้าของมือถือเครื่องนั้นๆ เสียทรัพย์โดยไม่ทันตั้งตัว บางกรณีคนร้ายอาจต่อสายโทร.เข้าหา ทำทีเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารหลอกถามข้อมูลและรหัสลับต่างๆ ฉะนั้น ถ้าไม่แน่ใจอย่าตอบอะไรกลับไปเด็ดขาด สําหรับผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์-โน้ตบุ๊กเชื่อมสัญญาณไร้สายเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทั้งชนิด "ไว-ไฟ" หรือ "ไวแม็กซ์" ก็หนีไม่พ้นเงื้อมมือแฮก เกอร์ เพราะเพียงแค่คนร้าย "แฮก" สัญ ญาณเข้าสู่เครื่องของเหยื่อได้ ก็เข้ามาขโมยข้อมูลออกไปจากหน่วยความจำได้แล้ว โดยเฉพาะ "ไวแม็กซ์" นั้นน่าวิตกมาก เนื่องจากรัศมีทำการไกลถึง 30-50 กิโลเมตร คนร้ายจึงไม่จำเป็นต้องอยู่ในรัศมีใกล้เหยื่อแม้แต่น้อย

วิธีป้องกัน"แฮก"ไร้สาย

1. ปิดระบบบลูทูธของโทรศัพท์มือถือ เมื่ออยู่ในที่สาธารณะ

2. ปิดระบบบลูทูธเมื่อเลิกใช้

3. ไม่กดรับไฟล์แปลกปลอมที่ปรากฏขึ้นมาบนหน้าจอมือถือ

4. ไม่ควรเก็บข้อมูลสำคัญ หรือความลับต่างๆ เอาไว้ในมือถือ

5. หากจำเป็นต้องทำธุรกรรมการเงินผ่านมือถือ หลีกเลี่ยงการกดใช้งานในที่สาธารณะ

6. ไม่ควรเชื่อมต่อระบบไวร์เลสเข้ากับคอมพิวเตอร์ หรือโน้ตบุ๊ก ที่มีข้อมูลสำคัญเก็บรักษาไว้

7. แยกเก็บข้อมูลสำคัญไว้ในหน่วยความจำภายนอกเครื่อง เช่น แฟลชไดรฟ์ เอ็กซ์เทอร์นัลฮาร์ดดิสก์ หรือแผ่นซีดีต่างๆ

8. ในกรณีที่ข้อมูลสำคัญมาก ควรเข้ารหัสการเปิดเรียกดูข้อมูลไว้ด้วย

9. ติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัส ทั้งในมือถือและคอมพิวเตอร์ให้เรียบร้อย


ขอบคุณ ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 29 กรกฎาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม

The Krungthepturakij web site : bangkokbiznews - finance

Norsorpor.com - ข่าวเด่นวันนี้